การรักษา

โรคอ้วนในเด็ก : การป้องกันและรักษา

โรคอ้วนในเด็กเป็นปัญหาที่สำคัญของโลกเนื่องจากมีความชุกทั่วโลกเพิ่มขึ้น 3 เท่าภายในระยะ 20-30 ปีที่ผ่านมาทั้งประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศที่กำลังพัฒนา1 สำหรับประเทศไทยจากการสำรวจพบว่าเด็กก่อนวัยเรียนเป็นโรคอ้วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5.8 ในปี พ.ศ. 2539-2540 เป็นร้อยละ 7.9 ในปี พ.ศ. 2544 ซึ่งเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 36 ในขณะที่เด็กวัยเรียนอายุ 6-13 ปี เป็นโรคอ้วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5.8 ในปี พ.ศ. 2539-2540 เป็นร้อยละ 6.7 ในปี พ.ศ. 2544 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.5 ในระยะเวลา 5 ปี2 จากการศึกษาของ National Health and Nutrition Examination Survey (NHANES III) ประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่าร้อยละ 10-20 ของทารกที่อ้วนจะยังคงอ้วนในวัยเด็ก ร้อยละ 40 ของเด็กอ้วนจะยังคงอ้วนในวัยรุ่นและร้อยละ 75-80 ของวัยรุ่นที่อ้วนจะยังคงอ้วนเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่3 มีโอกาสเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน นิ่วในถุงน้ำดี และมะเร็งบางชนิด4 และมีอัตราตายด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคหลอดเลือดสมองมากกว่าประชากรทั่วไป5-7 จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเริ่มดำเนินการป้องกันและรักษาโรคอ้วนตั้งแต่วัยเด็กเพื่อมิให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่อ้วนและลดอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคและอัตราตายของโรคดังกล่าว